ประวัติเทศบาลตำบลงิ้วงาม
ตำนานกล่าวว่า ในสมัยอยุธยาเมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จจึงขึ้นมาตีเมืองพิชัย แต่ก็พ่ายแพ้แก่พระยาพิชัย จึงเลื่อนทัพมาตีเมืองพระฝาง และยึดเมืองพระฝางได้สำเร็จและมาตั้งบ้านงิ้วงาม เป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งในบริเวณนั้นคือ วัดงิ้วงามล่างในปัจจุบัน ในระหว่างที่กองทัพพม่ามาตั้งทัพอยู่ที่บ้านงิ้วงาม (ในปัจจุบัน) นายทัพของพม่าได้นำลูกสาวมาด้วย พวกทหารพม่าเหล่านั้นเรียกว่า “เงี้ยว” (ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในพม่า) ชนเผ่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองชาวบ้านจึงพากันเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “เงี้ยวงาม” เมื่อเรียกกันมานาน ๆ เข้าก็เรียกเพี้ยนเป็น “งิ้วงาม” ในปัจจุบัน
ในหมู่บ้านนี้นอกจากชนชาติพม่าแล้ว ยังมีชนชาติเวียงจันทร์ซึ่งมีหลักฐานอีกว่า ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านปากฝางปัจจุบัน ส่วนลาวเวียงจันทร์ ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านงิ้วงามปัจจุบัน เช่นเดียวกัน
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
บ้านเรือนภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนบ้านงิ้วงามในปัจจุบัน
การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบ้านงิ้วงามในอดีตนั้น หมู่บ้านเรียงรายไปตามแม่น้ำน่าน สมัยโบราณราษฎรอาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่าน รวมทั้งเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้า จากจังหวัดน่าน ลงมาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ การลำเลียงขนส่งสินค้าต้องผ่านหมู่บ้านงิ้วงาม หรือ ตำบลงิ้วงาม
ต่อมามีการตั้งหมู่บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 ขึ้น นายใส ป๊อกหลง จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ของหมู่ที่ 4 โดยใช้ชื่อว่า หมื่นพิศาลสหกิจ ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกทำบุญตักบาตรที่วัดงิ้วงาม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีความเดือดร้อนในเรื่องตลิ่งพังและน้ำหลากในฤดูฝน ทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวก จึงคิดย้ายวัดให้มาอยู่ในชุมชน โดยไปตั้งที่บนเขา ซึ่งปัจจุบันคือเขตพุทธาวาสดอยแก้ว ต่อมาเกิดน้ำท่วมทางขาดทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวกเกิดอันตรายในฤดูฝน สมัยนั้นโรงเรียนจะต้องตั้งอยู่ในวัดรวมกับวัด ซึ่งส่วนใหญ่ตามชื่อก็จะเป็นโรงเรียนที่มีคำว่าวัดนำหน้าวัดเขาแก้ว ศาสนสถานในชุมชนบ้านงิ้วงาม
ดังนั้นหมื่นพิศาลสหกิจ ซึ่งได้เป็นผู้นำและมีการพัฒนาในการย้ายวัดและโรงเรียน ถือเป็นการก่อตั้งวัดเขาแก้วในปัจจุบัน โดยการอุทิศที่ดินและได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน เพราะเห็นว่าวัดเดิมตั้งอยู่บนเขา (เขตพุทธาวาสวัดดอยแก้ว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของวัดเขาแก้วในปัจจุบัน) ห่างไกลชุมชนโดยมีทางคมนาคมไม่สะดวก ถูกน้ำท่วมตัดขาดในฤดูฝน สะพานพัง มีความยากลำบากในการสัญจร จึงได้มีมติย้ายวัดเขามาอยู่ในชุมชนเป็นวัดเขาแก้วในปัจจุบัน และเห็นว่ามีที่ดินยังพอเหลือที่จะให้สร้างโรงเรียน ต่อมาจึงได้แยกโรงเรียนออกจากวัดแต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และเป็นโรงเรียนบ้านงิ้วงามในปัจจุบัน
นับแต่นั้นมาจึงมีการรวมตัวจากญาติพี่น้องในหลายๆ ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน จึงกลายเป็นหมู่บ้านจากเดิมประมาณ 40 หลังคาเรือน เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยหลังคาเรือน
สภาพด้านสังคม
เขตพุทธาวาสดอยแก้ว ศาสนสถานในชุมชนบ้านงิ้วงาม
ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านงิ้วงามเป็นคนไทยภาคเหนือพูดภาษาพื้นเมือง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กำเมือง” (ภาษาของคนภาคเหนือ)หมู่บ้านงิ้วงาม หมู่ที่ 4 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 667 คน เป็นชายจำนวน 327 คน เป็นหญิงจำนวน 340 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 214 ครัวเรือน
สภาพภูมิศาสตร์
เทศบาลตำบลงิ้วงาม
บ้านงิ้วงาม หมู่ 4 ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 7 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำน่าน มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และถนนลาดยาง เป็นเส้นทางหลัก ลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบ ลักษณะภูมิประเทศของตำบลงิ้วงามสามารถแบ่งได้เป็น พื้นที่ราบน้ำท่วมไม่ถึง ใช้ประโยชน์ในการทำนาปลูกพืชไร่และเกษตรกรรมอื่น ๆ และพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ จะอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่าน ส่วนใหญ่ทำใช้ประโยชน์ในการเกษตร ปลูกยาสูบ พืชผัก ข้าวโพดและสวนผลไม้